วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551

เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551 


   
    เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551 เป็นเหตุการณ์ที่พายุหมุนนาร์กิสอันเป็นพายุลูกแรกตามฤดูพายุกระหน่ำมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ พ.ศ. 2551 พัดผ่านดินแดนแถบมหาสมุทรดังกล่าวเมื่อปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งก่อภาวะมหันตภัยทุกบริเวณโดย เฉพาะในพม่าปรากฏรายงานผู้เสียชีวิตกว่าสองหมื่นคนและผู้สูญหายกว่าสี่หมื่นคน อย่างไรก็ดีรัฐบาลพม่าไม่ได้ใส่ใจแก้ไขสถานการณ์เท่าที่ควร ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะเปลี่ยนใจรัฐบาลพม่า

พม่า
  
   
                                                                   
       หลังจากที่พม่าเผชิญกับพายุหมุนนาร์กิสแล้ว ทางการพม่ารายงานว่า อัตราการตายในประเทศมีประมาณห้าหมื่นคน และผู้คนพลัดหลงประมาณสี่หมื่นหนึ่งพันคนสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าผู้คนในพม่ากว่าสองล้านถึงสามล้านคนกลายเป็นผู้ไร้บ้าน นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า อาคารถูกทำลายหลายแสนหลังในเมืองลบุตร เขตอิรวดี สำหรับจำนวนดังกล่าว สำนักข่าวแห่งพม่ารายงานว่า ร้อยละเจ็ดสิบห้าของอาคารพังทลาย ร้อยละยี่สิบหลังคาถูกซัดหายไป และที่เหลือยังอยู่รอดปลอดภัย

                                          

 สภาพความรุนแรง
             เมื่อเทียบกับเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2547 แล้ว ถือว่าเหตุการณ์พายุนาร์กิสนี้เป็นพิบัติภัยที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติพม่านายแอนดริว เคิร์กวูด (Andrew Kirkwood) ผู้อำนวยการองค์กรการกุศลแห่งสหราชอาณาจักรเพื่อการพิทักษ์เยาวชน (British charity Save The Children) แถลงว่า ตนกำลังพิเคราะห์จำนวนผู้เสียชีวิตห้าหมื่นรายและผู้ไร้บ้านอีกกว่าหลายล้านราย โดยเห็นว่าเป็นความรุนแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติพม่า ซึ่งจำนวนดังกล่าวอาจมากกว่าจำนวนผู้เสียหายในเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศศรีลังกาว่าหลายเท่าตัวเป็นที่คาดกันว่า พายุหมุนนาร์กิสครั้งนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงที่สุด ในบรรดาเหตุการณ์ที่เกิดจากพายุหมุนด้วยกันเองนับแต่ บังคลาเทศถูกพายุหมุนถล่มใน พ.ศ. 2534 ซึ่งปรากฏคนตายถึงหนึ่งแสนสามหมื่นแปดพันคน และอีกหนึ่งหมื่นคนเป็นอย่างน้อยถึงแก่ความตายที่ดินแดนสามเหลี่ยมในเมืองโพคัล (Bogale)ทูตต่างประเทศประจำนครย่างกุ้งนายหนึ่งให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวรอยเตอส์ซึ่งขอให้พรรณนาเหตุการณ์พายุหมุนาร์กิสถล่มพม่าว่า รอบกายของตนนั้นดูประหนึ่งซากที่หลงเหลือจากภาวะสงคราม ปฏิกูลที่ทะลักนองทั่วนครทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าท่วม (waste flood) ซึ่งส่งผลให้นาข้าวเสียหายหลายแห่งเจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติรายหนึ่งให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว่า ถือเป็นเหตุการณ์ที่ย่ำแย่เหตุการณ์หนึ่ง บ้านเรือนเกือบทั้งปวงพังพินาศ ประชาชนต่างอกสั่นขวัญผวา เจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติอีกรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ดินดอนสามเหลี่ยม (delta) แห่งลุ่มน้ำอิรวดีได้รับผลกระทบหนักมาก ไม่แต่เพราะลมและฝน แต่ยังเพราะความกำเริบของพายุอีกด้วย



             หนังสือพิมพ์ เดลีเทเลกราฟ” (Daily Telegraph) แห่งสหราชอาณาจักร ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม 2551 รายงานว่า ราคาโภคภัณฑ์ในประเทศพม่าอาจได้รับผลกระทบเพราะเหตุการณ์พายุครั้งนี้ด้วยซึ่งวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 นายวรเดช วีระเวคิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศของไทย แถลงโดยอ้างถึงรายงานของนายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทยประจำนครย่างกุ้ง ว่าราคาโภคภัณฑ์ในพม่าได้สูงขึ้นสองถึงสามเท่าตัวแล้ว โดยสภาพแวดล้อมในนครได้รับความเสียหายหนัก ห้างร้านส่วนใหญ่ปิดกิจการ เครื่องอุปโภคบริโภคมีฝืดเคือง และโดยรวมแล้วความเป็นอยู่ของผู้คนในนครค่อนข้างกันดาร

การจัดการสถานการณ์ของรัฐบาลพม่า
             



            ในการนี้ รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศให้เขตย่างกุ้ง เขตอิรวดี เขตหงสาวดี ตลอดจนรัฐมอญ และรัฐกะเหรี่ยงเป็นเขตประสบพิบัติภัยอย่างไรก็ดี รัฐบาลทหารพม่าหาได้มีและดำเนินมาตรการใด ๆ เพื่อแก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูความเลวร้ายในบ้านเมืองอย่างเหมาะสม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายงานว่า ชาวพม่าจำนวนมากโกรธแค้นรัฐบาลที่ไม่มีการเตือนภัยที่ดีพอ และสมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมืองซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานครรายงานว่า เจ้าหน้าที่พม่ายิงประหารนักโทษแห่งเรือนจำอินเส่งในขณะที่ฉวยจังหวะจลาจลจากพายุเตรียมหลบหนี ปรากฏนักโทษตายสามสิบหกคน และบาดเจ็บอีกประมาณเจ็ดสิบคน อย่างไรก็ดี ทางการพม่าปฏิเสธรายงานทั้งสองด้วยเหตุนี้เอง นานาชาติจึงวิตกว่า ศพนับแสนที่รัฐบาลพม่าไม่จัดการแต่ปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าอืดยังหนทางตามยถากรรมนั้น จะนำมาซึ่งโรคระบาดขนานใหญ่ และอาจลุกลามใหญ่หลวงได้     วันที่ พฤษภาคม 2551 นางลอรา บุช คู่สมรสของนายจอร์จ วอล์กเกอร์ บุช ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวโจมตีรัฐบาลทหารพม่าว่าล้มเหลวในการแจ้งเตือนภัยและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน ซึ่งร้อยตำรวจเอกนิติภูมิ นวรัตน์ นักวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ ให้ความเห็นต่อการกระทำของนางลอรา บุช ว่า เป็นเพียงเกมการเมืองที่ดำเนินอยู่บนน้ำตาของผู้ทุกข์ยาก อีกประการหนึ่ง สหรัฐอเมริกาเองก็ล้มเหลวในการแจ้งเตือนภัยและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในเหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาพัดถล่มสหรัฐอเมริกาเมื่อวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2548 เช่นกัน

การบรรเทาทุกข์จากนานาชาติสู่พม่า


      วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ผู้แทนของรัฐบาลทหารพม่าที่รัฐนิวยอร์กได้ร้องขอความช่วย เหลือจากสหประชาชาติอย่างเป็นทางการสำหรับ  ความเสียหายจากพายุหมุนนาร์กิสในประเทศตน  ซึ่งนานาชาติล้วนพร้อมสนองอย่างเต็มที่อย่างไรก็ดี รัฐบาลพม่าแสดงทีท่าไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ซึ่งหลายประเทศได้เตรียมบริจาคเงินและเสบียงทั้งอาหารและยา ตลอดจนข้าวของที่จำเป็นอื่น ๆสำหรับประเทศไทยเองได้เตรียมบริจาคเงินหนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐเวชภัณฑ์สามสิบตัน และเสบียงอาหารสิบสองตันจากสภากาชาดไทย ซึ่ง นายไชยา สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังได้จัดส่ง เวชภัณฑ์ไปช่วยเหลือพม่าอีกสิบสี่รายการ มูลค่ากว่าสิบล้านบาท ตามคำสั่งของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจะได้จัดส่งคณะแพทย์และพยาบาลเข้าไปช่วยเหลือยี่สิบ คณะ กับทั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการปราบปรามโรคระบาดอีกยี่สิบหน่วย โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ถ้าพม่าไฟเขียวอนุญาตให้เข้าไปช่วยเหลือ ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากกองทัพอากาศ โดยใช้เครื่องบินซี-130 ขน  ไป ไทยจะพรวดพราดไปไม่ได้ ต้องแจ้งให้ทางโน้นรับทราบก่อน ซึ่งต่อมาในวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 เครื่องบินลำดังกล่าวพร้อมด้วยบริวารได้รับอนุญาตให้ลงจอด ณ นครย่างกุ้ง โดยได้บรรทุกน้ำดื่มและอุปกรณ์การก่อสร้างขนาดเบาเป็นการเพิ่มเติมไปด้วย


แหล่งข้อมูล
           ชาวพม่าตายนับแสนเหตุพายุไซโคลนถล่ม - วิกิข่าว (อังกฤษ)
         ชาวพม่าตายสามร้อยห้าสิบเอ็ดรายเหตุพายุไซโคลนถล่ม - วิกิข่าว (อังกฤษ)
         รายงานความเสียหายโดยสถานีโทรทัศน์บีบีซี (อังกฤษ)
         ทิศทางการเคลื่อนไหวของพายุหมุนนาร์กิส (อังกฤษ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น